พระปิดตาหลวงปู่แย้ม วัดด่านสำโรง
พระปิดตา หลวงปู่แย้ม วัดด่านสำโรง เป็นพระปิดตาอีกหนึ่งรุ่นที่มีความเก่าแก่และมีชื่อเสียงโด่งดังมากโดยเฉพาะ ใน จ.สมุทรปราการ เพราะสร้างโดยหลวงปู่แย้ม วัดด่านสำโรง พระเกจิชื่อดังของจังหวัดครับผม
หลวงปู่แย้ม วัดด่านสำโรง เป็นพระเกจิผู้เรืองวิทยาคมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รุ่นเดียวกับหลวงพ่อเชย แห่งวัดบางกระสอบ จ.สมุทรปราการ และหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ธนบุรี ท่านเป็นชาววัดด่านสำโรงโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2387 เริ่มศึกษาอักขระสมัยตั้งแต่เป็นสามเณร จนอายุครบบวชจึงบรรพชาเป็นพระภิกษุ ณ วัดด่านสำโรง เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ จนเชี่ยวชาญแตกฉาน โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนา จากนั้นหลวงปู่แย้มท่านเริ่มออกธุดงค์ไปตามสถานที่เงียบสงบต่างๆ เพื่อฝึกฝนปฏิบัติและในที่สุดก็เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดด่านสำโรงแต่นั้น มา ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เป็นพระที่มีอภิญญาสูงส่งและหลุดพ้นแล้วซึ่งกิเลสต่างๆ ปฏิเสธยศถาบรรดาศักดิ์ที่ได้รับการแต่งตั้ง มุ่งเพียงดูแลปกครองวัดและพระลูกวัด รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมที่มีทุกข์มีความเดือดร้อน ไม่หวังในลาภ ยศ หรือทรัพย์สินใดๆ ทั้งสิ้น แม้จะเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าท่านดุเอามากๆ แต่ท่านก็เป็นที่เคารพรักของชาวบ้านด่านสำโรงและละแวกใกล้เคียง ที่ประจักษ์ในความอัศจรรย์และอภินิหารต่างๆ นอกจากนี้ หลวงปู่แย้มท่านยังเป็นพระนักพัฒนา เป็นผู้พลิกฟื้นสภาพวัดด่านสำโรง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีสภาพรกร้างมาเนิ่นนานให้กลายเป็น ปึกแผ่นมั่นคง ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของเหล่าลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านที่เคารพศรัทธาจนเจริญ รุ่งเรืองมาจวบจนปัจจุบัน หลวงปู่แย้ม วัดด่านสำโรงท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2481 สิริอายุ 94 ปี 74 พรรษา
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของหลวงปู่แย้ม วัดด่านสำโรงท่านมีทั้งพระปิดตา ตะกรุดพิสมร ผ้าประเจียด และมงคล แต่ที่เป็นที่นิยมเล่นหากันที่สุดเห็นจะเป็น "พระปิดตา" ซึ่งเรียกกันว่า "พระปิดตาหลวงปู่แย้ม" เป็นพระพิมพ์เนื้อผง สร้างจาก "ผงอิทธิเจ" ซึ่งเป็นผงทางเมตตามหานิยม ผสมกับว่านยาและวัสดุอาถรรพ์ต่างๆ อาทิ ยอดสวาท เครือสาวหลง ฯลฯ และใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสาน เมื่อกดแม่พิมพ์เป็นที่เรียบร้อยท่านก็จะปลุกเสกเองทีละองค์ แล้วรวมใส่ในบาตรเพื่อบริกรรมคาถา จากนั้นจึงนำองค์พระมาลงรักปิดทองเพื่อรักษาเนื้อพระเป็นอันเสร็จพิธี หลวงปู่แย้มไม่ได้จัดสร้าง "พระปิดตา" ในคราวเดียวกันเป็นรุ่นๆ พระปิดตาหลวงปู่แย้มท่านจะค่อยทำค่อยไป ส่วนผสมต่างๆ ก็ไม่ได้มีการชั่งตวงวัด จึงทำให้เนื้อในขององค์พระปิดตามีสีสันต่างกันไป แบ่งออกได้เป็น 3 สี คือ "สีน้ำตาลอ่อน" เป็นเนื้อผงขาวผสมน้ำมันตังอิ๊ว เมื่อถูกเหงื่อหรือสัมผัสจึงออกไปทางสีน้ำตาล "สีเขียว" มีส่วนผสมของใบโพธิ์ และ "สีดำ" มีส่วนผสมของเถ้าใบลานเผา
การจะเล่นหา "พระปิดตาหลวงปู่แย้ม" ต้องพิจารณากันให้ดีๆ เนื่องจากของทำเทียมเลียนแบบมีเยอะมากและค่อนข้างจะเหมือนอีกด้วย ทั้งการจัดสร้างก็ไม่ใช่การจัดสร้างเป็นรุ่นในคราวเดียวกันที่จะมีพิมพ์ทรง และสีสันใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงขอแนะนำให้สังเกตที่ลักษณะการลงรักปิดทอง "พระปิดตาหลวงปู่แย้ม"ซึ่งจะไม่ใช่การใช้ "รัก" เป็นตัวประสาน แต่เป็นการใช้ "น้ำมันตังอิ๊ว" ประสาน ดังนั้น สีจึงไม่ใช่สีน้ำตาลของ "ชะแล็ก" ตามที่บางท่านเห็นและเข้าใจผิดหลงชื่นชมกันอยู่ครับผม
คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์ ที่มา... ฉบับที่ 6716 ข่าวสดรายวัน