ประวัติ เหรียญบิน หลวงพ่อทรง ฉันทฺโสภี วัดศาลาดินพระครูสุภัทรธรรมโสภณ หรือ หลวงพ่อทรง ฉันทโสภี แห่งวัดศาลาดิน ต.ม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เรียกว่า “เหรียญบิน”
ประวัติหลวงพ่อทรง ฉันทฺโสภี วัดศาลาดิน หรือ พระครูสุภัทรธรรมโสภณ
เจริญรุ่งเรือง มหาอำนาจ เข้มขลังรับปีเสือ พระครูสุภัทรธรรมโสภณ หรือ หลวงพ่อทรง ฉันทฺโสภี แห่งวัดศาลาดิน ต.ม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นบุตรของนายจั่น นางกรอง สกุล วารีรักษ์ ท่านเป็นคนมีสติปัญญามาก มีไหวพริบปฏิภาณดีมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก โดยสามารถสอบบรรจุเป็นครูได้ แต่ท่านก็มิได้มุ่งแสวงหาลาภสักการะในทางโลก กลับชอบใจในทางธรรมเป็นที่สุด
ท่านอุปสมบท เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ณ วัดยางมณี อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง โดยมีหลวงพ่อชวน พรหมโชโต วัดยางมณีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วท่านได้เล่าเรียนพุทธาคมกับหลวงพ่อชวน จนหมดสิ้น จากนั้นท่านได้ไปจำพรรษาเรียนวิปัสสนาที่วัดกำแพง และได้มาขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อผาด วัดไร่ จนมีความเชี่ยวชาญในกรรมฐาน ดีแล้ว ท่านก็มักจะเดินทางไปกราบครูบาอาจารย์ ที่สำคัญ เพื่อขอเรียนพุทธาคมเสมอ ๆ ไปทีหนึ่ง นานเป็นเดือน ครึ่งเดือนเป็นประจำ เช่นในละแวก จังหวัดอ่างทอง ท่านไปเรียนวิชากับหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อภู วัดดอนรัก, หลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ และหลวงปู่คำ วัดโพธิ์ปล้ำ
ด้วยอุปนิสัยที่รักพวกพ้อง ใจดี ใจกว้าง และมีสติปัญญาดี จึงทำให้ท่านมีความสนิทสนมกับพระเกจิร่วมสมัย โดยนับถือในพลังจิตตานุภาพ ของกันและกันมาก เช่น หลวงพ่อกลั่น วัดอินทาราม เจ้าตำรับปลัดขิกลิงอุ้ม, หลวงพ่อโปร่ง วัดท่าข้าม และหลวงพ่อสาย วัดท้องคุ้ง นอกจากนี้ท่านยังนับถือหลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน ได้ไปขอต่อสรรพวิชาในสายหลวงพ่อนุ่ม มาจนหมดสิ้น
ประวัติเหรียญบินหลวงพ่อทรง วัดศาลาดิน
ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาดิน (มอญ) ท่านจึงได้เริ่มปฏิสังขรณ์วัด เริ่มจากหาทุนทรัพย์สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ขึ้น โดยได้ออกเหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. 2513 เรียกว่า “เหรียญบิน”
มีเรื่องเล่าขานกันว่า ในงานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตพระอุโบสถ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ได้มีการจัดสร้างพระเครื่อง เหรียญเสมาเป็นรูปท่านครึ่งองค์ เพื่อมอบให้สาธุชนเป็นที่ระลึก โดยนิมนต์พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร) วัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิโต วัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี และพระเกจิผู้ทรงวิทยาคมรูปอื่น ๆ มาร่วมนั่งปลุกเสก
หลังจากพระเกจิผู้ทรงวิทยาคมคลายพลังสมาธิญาณ และผ่อนคลายอิริยาบถ หลวงพ่อทรงยังคงนั่งนิ่งส่งพลังสมาธิญาณ กระทั่งเหรียญเสมาที่อยู่ในบาตรบินลอยวนไปมา ส่งเสียงกระทบฝาบาตรอย่างน่าอัศจรรย์ จนหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ เปรยว่า “พอแล้วท่านทรง จะปลุกเสกไปถึงไหน เดี๋ยวเหรียญก็ได้แตกป่นกันหมดพอดี” หลวงพ่อทรงจึงผ่อนคลายพลังสมาธิญาณ ต่อมาคณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งสมญานามเหรียญเสมารุ่นนี้ว่า “รุ่นเหรียญบิน” ตราบจนปัจจุบัน
เหรียญนี้มี ๒ พิมพ์ คือพิมพ์พระพุทธซึ่งเป็นพระประธานในโบสถ์ กับพิมพ์รูปหลวงพ่อทรง ครึ่งองค์ เขียนว่า “อาจารย์ทรง”เป็นเหรียญที่ประสบการณ์สูง แต่ก็มีของปลอมแล้ว ตลอดชีวิตของหลวงพ่อทรง วัดศาลาดิน ท่านสร้างวัตถุมงคลไว้มากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนแต่มีพุทธคุณสูงมากมาย จนท่านได้รับสมญานามจากคณะศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย”
พระเครื่องจำแนกเป็นประเภทโดยคร่าว ๆ เช่น ชุดพระกริ่ง พระกริ่งบาเก็ง เนื้อนวโลหะ และเนื้อชนวน (มีประสบการณ์หยุดมัจจุราช ศิษย์โดนยิงในระยะเผาขนแต่ไม่เข้า), พระกริ่งหน้าอินเดีย และกริ่งเขมร เนื้อนวโลหะ ที่ดีเด่นด้านโภคทรัพย์, พระกริ่งอุ้มบาตรไตรมาส เนื้อเงิน และนวโลหะก้นทองคำ ก้นเงิน และก้นอุดผงผสมเกศาของหลวงพ่อ ที่หลายคนบูชาแล้ว เห็นเส้นเกศางอกออก มาได้เองเป็นอัศจรรย์, พระกริ่งเศรษฐีนวโกฎิ์ที่สร้างฐานะให้ศิษย์มาอย่างมากมาย
ประเภทรูปหล่อมี รูปหล่อบูชารุ่นแรก (โรงเรียนสร้าง), รูปหล่อบูชาพิมพ์สมาธิ เนื้อนวโลหะสร้าง ๑๖ องค์ และเนื้อทองแดง ศักดิ์สิทธิ์และหายากมาก, รูปหล่อปั๊มรุ่นแรก มีประสบการณ์ไม่หลอมละลายไปกับเหตุเพลิงไหม้ตลาดวิเศษฯ รูปหล่อก้นเกินรุ่น ๒ เนื้อนวโลหะ เนื้อทองเหลือง และเนื้อเงิน ดีด้านทำมาหากิน, พระสังกัจจายน์ และพระปิดตาพะเนียงแตก, เหรียญหล่อมหาเศรษฐี ที่หล่อได้เหมือนหลวงพ่อมากที่สุด และเหรียญหล่อหน้าเสือที่สร้างน้อย หายาก
ส่วนเหรียญที่คนรู้จักท่านมากที่สุด คือเหรียญเต่าเรือนรุ่น ๑ เนื้อทองแดง, ทองเหลือง, นวโลหะและเนื้อเงิน, เหรียญเต่าเรือนรุ่นสร้างตัว และเหรียญเต่าจิ๊กโก๋ (เต่าใหญ่), กัญหา-ชาลี, ตะโพนเรียกทรัพย์ขนาดบูชา ที่สร้างจากกรรมวิธีทำตะโพน จริง ๆ และขนาดเล็กเนื้อเงิน และเนื้อทองผสม, ตะกรุดมหาจักรพรรดิ, ตะกรุดเทพรัญจวน, ตะกรุดแม่ทัพ, ตะกรุด ๔ มหาอำนาจ, จระเข้คาบดอกบัวซึ่งดีทางคุ้มครองชีวิต และช่วยค้าขาย
นอกจากนี้วิชาที่ท่านทำได้ขลังมากคือ วิชาเสกพระที่เสริมสติปัญญาเด็ก เรียกว่าบูชาแล้วเด็กจะเรียนหนังสือดี มีสมาธิ มีสติปัญญามากขึ้น ซึ่งได้ทดลองกันมามากต่อมากแล้ว ได้แก่พระนักธรรม (เนื้อผงมีพิมพ์เดียว ๓ เนื้อคือเนื้อผงดำ, ผงขาว และผงดำปิดทองยันต์กลับ), พระปัญญาดี (มีพิมพ์เดียว เป็นพระพุทธหล่อ ขนาดเล็ก) เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง
ยังมีแหวนที่ท่านสร้างซึ่งดีเด่นทางเสี่ยงโชค ทำมาหากิน เครื่องรางของขลัง เช่น แหวนดอกบัว (ไม่ ปรากฏว่า พระอาจารย์องค์ใดเคยสร้างมาก่อน), แหวนนารายณ์ (ดีทางรับราชการ), แหวนพิรอด ๓ สาย และ ๒ สาย, แหวนนาคเกี้ยว (ดีทางเสน่ห์เมตตา)
ประเภทผ้ายันต์ ที่เด่น คือ ผ้ายันต์ดอกบัวบาน, ผ้ายันต์หนุมาน, ผ้ายันต์รอยมือ รอยเท้า (หมึกครามซักผ้า), ผ้ายันต์กลับดวง (ดีทางหนุนดวงมาก ผืนเล็ก และใหญ่), ผ้ายันต์หงษ์ทอง (ดีค้าขาย), ผ้ายันต์พัดโบก (มหาเศรษฐี) ผ้ายันต์เต่าเรือน และผ้ายันต์บูชาครู
พระเครื่อง-วัตถุมงคล หลวงพ่อทรง ฉันทฺโสภี วัดศาลาดิน
ส่วนตะกรุดนั้น ก็เป็นที่เสาะหาของศิษย์เช่นกัน เพราะมีคนนำไปใช้แล้วมีประสบ การณ์บอกต่อกันมามากมาย เช่น ตะกรุดมหาจักรพรรดิ, ตะกรุดพระลักษมณ์หน้าทอง, ตะกรุด ๔ มหาอำนาจ, ตะกรุดเทพรัญจวน, ตะกรุดแม่ทัพ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ด้วยสังขาร คือ อนิจจัง เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ครั้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. หลวงพ่อทรงมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ หายใจขัด เนื่องจากมีกิจนิมนต์มาก เมื่อลูกศิษย์เห็นว่าอาการไม่ดี จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง คณะแพทย์ได้ทำการรักษา แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ในที่สุด เมื่อเวลา ๒๒.๕๐ น. ของวันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ท่านได้ละสังขารจากไปอย่างสงบ ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ หลังจากเข้ารับการรักษาอาการท่อปัสสาวะอักเสบ มาก่อนหน้านี้ สิริอายุได้ ๘๓ ปี ๘ เดือน พรรษา ๖๔ท่ามกลาง ความเศร้าสลดและความอาลัยเป็นยิ่งนักของ บรรดาคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
หลวงพ่อทรง ท่านเป็นพระสงฆ์สุปฏิปันโนอย่างแท้จริง แต่ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ ท่านได้ละสังขารตามกฎไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ถือว่าวงการสงฆ์ต้องสูญเสียพระเถระรูปสำคัญ ผู้บำเพ็ญคุณูปการต่อชาวเมืองอ่างทอง ด้วยความอุตสาหวิริยะมาอย่างยาวนาน เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานอันทรงคุณค่าที่อุทิศให้แด่พระพุทธศาสนา เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำไว้เบื้องหลัง.
อาราธนานัง รายงาน วันเสาร์ ที่ 02 มกราคม 2553 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์